วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การจำสัญญาณเรียกขาน

การจำสัญญาณเรียกขาน (โดย E20ARH)

           อันที่จริงแล้วไม่ใช้ความผิดอะไรที่จะเรียกขานตัวเองว่า Echo-Two-Zero-A-R-H (E20ARH) แทนที่จะเป็น (Echo-Two-Zero-Alpha-Romeo-Hotel) แต่เราก็ไม่มีทางที่จะมั่นใจได้เลยว่า เพื่อนสมาชิกที่เราคุยด้วยเป็นครั้งแรก ๆ จะไม่ฟัง H ของเราเป็น S หรือ F หรือแม้แต่ X
               หลายท่าน   อาจเคยประสบปัญหาในการจำนามเรียกขานเพื่อนสมาชิกในยามที่ท่านต้องพูดคุยขณะไม่พร้อมจดหรือจำ ที่พบบ่อยที่สุดคือการพูดคุยในขณะที่กำลังขับรถอยู่ นั่นสิ..ปากกาก็หาไม่ได้ กระดาษก็ไม่มี... กำลังใช้สามธิอยู่ด้วย
       อันที่จริงวิธีง่าย ๆ   ในการจดจำนามเรียกขานของเพื่อนสมาชิกโดยเฉียบพลันในขณะที่ไร้ซึ่งอาวุธการขีดเขียนทั้งปวง จะใช้วิธีขาน นามเรียกขานของเพื่อนสมาชิกที่รกรุณาแจ้งมาเป็น Phonetic ซ้ำและรีบแปลงมาเป็นตัวอักษรอันที จากนั้นก็แปลงมาเป็นคำไทย ๆ ที่พ้องกับนามเรียกขานนั้น ให้มันจำได้ง่ายเข้า พูดซ้ำ ๆ กันสองสามรอบก็จำได้เอง
           ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยรับ Contact ที่เ้พื่อนสมาชิก W21BKJ กรุณาขึ้นมาให้เกียรติทดสอบสัญญาณ ผู้เขียนลงมือขานซ้ำ (โดยไม่กดไมค์) ทันที Echo-Two-One-Bravo-Kilo-Juliet และก็กลับมาเป็น Echo-Two-One BKJ แล้วเริ่มลงมือแปลงคำว่า BKJ เป็น บางกระเจ้า เท่านั้นเองการสนททนาครั้งนี้ก็ราบรื่นพอสมควร พอ ๆ กับที่ผู้เขียนเอ่ยนามเรียกขานตัวเอง Echo-Two-Zero-ARH และตามด้วยคำว่า ARH อร่อยเหาะ... เท่านี้ก็รู้สึกว่าเพื่อนสมาขิกที่ร่วมสนทนา จดจำนามเรียกขานได้ง่ายขึ้นเยอะ...จนเริ่มคุ้นแล้วจึงมาใช้ Alpha-Romeo-Hotel ได้คล่องขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
         และที่สำคัญ.. ทุกครั้งที่ใช้เทคนิคนี้ อย่าลืมขออภัยที่อาจจะคาบเกี่ยวและดูเหมือนเป็นการล่วงเกินบ้าง ทั้งนี้ด้วยความมุ่งมาดปรารถนาประการเดียว คือขอจดจำนามเรียกขานในเบี้องต้นให้ได้เสียก่อนเท่านั้น 
          ก็คงต้องเรียนตรง ๆ ว่า ในความรู้สึกลึก ๆ นั้น เทคนิคนี้ไม่ถูกต้องตามกฎกรมไปรษณีย์โทรเลขเลย แต่ที่ใช้เพื่อผลทางปฏิบัติเท่านั้น เพื่อนสมาชิกท่านใดเห็นว่าเข้าท่าเข้าทางพอที่จะนำไปใช้บ้าง ก็มิได้สงวนสิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่ควรระลึกไว้เสมอว่านั่น ไม่ใช้ความถูกต้องเท่าไรนักก็แล้วกัน
          ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้กำหนด Phonetic ไว้เป็นมาตรฐานให้ได้ใช้เพื่อความชัดเจนในการเรียกขานและป้องกันการสับสนในเรื่องการใช้ภาษา ดังนั้นเพื่อนสมาชิกบางท่าน ซึ่งอาจจะไม่จัดเจนในภาษาฝรั่งมังค่านัก ก็จะมีมาตรฐานการใช้ Phonetic นี่แหละมาเป็นสัญลักษณ์เทียมบ่าเทียมไหล่กับนักวิทยุทั่วโลก
        ในชีวิตการงานประจำวันของผมนั้น  ผมทำเกี่ยวกับเป็นตัวแทนรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งทางอากาศและทางเรือ เรียกให้เท่ห์เป็นภาษาอังกฤษว่า Air Cargo Agent หรือ Freight Forw Arders ก็คงได้ และก็บอกไม่ถูกว่า มันเป็นโชคดี หรือโชคร้ายที่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวงการนี้จะ 20 ปีเข้าใจแล้ว
           ที่แจ้งว่าไม่ทราบว่า โชคดีหรือโชคร้ายก็เพราะว่า        ในวงการ Air Cargo Agent ก็มีการติดต่อ สื่อสารโดยใช้ Phonetic สำหรับสะกดคำแจ้งข้อมูลเช่นเดียวกันกับ ITU อาจจะเหมือนกันอยู่บ้างก็แค่ 4 ตัว คือ C (Charlie),  M (Mike),  V (Victor อ่านชัด ๆ ว่า วิคเตอร์),  X (X-Ray) โดยมีองค์กรที่ชื่อว่า International Air Transport Association (เรียกย่อ ๆ ว่า IATA) หรือเรียกเป็นไทย ๆ ว่า สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ เป็นผู้กำหนด
           มาตรฐาน Phonetic ให้ใช้กันในการสื่อสารประจำวันของผู้อยู่ในสายงานนี้    ผมเองก็ไม่เว้นที่จะต้องใช้ Phonetic ชุดของ IATA นี้ในการติดต่อสื่อสารกับบริษัท สายการบิน หรือคนที่อยู่ในวงการ Air Cargo Agent ด้วยกัน แม้แต่การสำรองที่นั่งของผู้โดยสาร จะสะกดชื่อกันทีก็ต้องใช้ Phonetic ชุดของ IATA นี้แหละ ไม่งั้นเขาอาจจะหาว่าเราไม่อยู่ในวงการ    
            Phonetic    ชุดนี้ยังแพร่หลายเข้าไปในหมู่กิจการที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน  อาทิ เช่น ตัวแทนการท่องเที่ยว, เอเย่นต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบิน, บริษัทรถเช่ามาตรฐานสากล, โรงแรมชั้นหนึ่งที่ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเย่นต์ขายตั๋วเครื่องบินและโรงแรมนั้น มีการใช้กันจนคุ้นลิ้นคุ้นมาก มากที่สุด
              หากจะดูตามตารางเปรียบเทียบ   Phonetic จะเห็นว่า IATA นั้น เน้นการใช้ชื่อเฉพาะ   (เช่นชื่อ คน) และใช้คำสั้น ๆ โดยมีคำพยางค์เดียวอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่คำเกิน 2 พยางค์เลย ยิ่งไปกว่านั้นสระในภาษาอังกฤษ 4 ใน 5 ตัว คือ A-E-I-O    ยังเน้นให้เป็น Phonetic ที่ออกเสียงสระนั้นด้วย กล่าวคือ A คือ Able (เอ-เบิ้ล) มีคำว่า "เอ" อ่านออกเสียงชัดเจน    E  คือ Easy (อี-ซี่) ก็มีคำว่า "อี" นำหน้ามาเลย  I ยังเป็น Item (ไอ-เท่ม) ก็ประกอบด้วยเสียง "ไอ" เป็นตัวเอก และ O ใช้ Obo (โอโบ้) ก็ออกเสียง "โอ" มาชัด ๆ เช่นเดียวกัน ยกเว้นก็แต่ U เท่านั้นแหละที่ไม่ยักกะออกเสียง "ยู" เหมือนเช่นสระตัวอื่น
             ผมคุ้นปากกับ Phonetic ชุดของ IATA นี้มา 10 กว่าปี และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ผมยังทำงานในด้านการขนส่งทางเรือด้วย ซึ่งในวงการขนส่งสินค้าทางเรือนั้นเขาไม่ใช้ Phonetic ทั้ง 2 ชุดมาเป็นมาตรฐานเลย ในวงการขนส่งสินค้าทางเรือในเมืองไทยนั้น เขากลับกำหนด Phonetic ขึ้นมาใช้เอง แต่ Phonetic ชุดที่ปรากฎในตาราง Forw Arders ไม่ถือเป็นมาตรฐาน และไม่มีองค์กรใดมากำหนดให้ หากแต่ว่าคนในวงการเขาใช้สืบต่อกันมาเป็นที่ติดปากมานานนับปี
              นั่นเองทำให้ผมคิดไม่ออกว่ามันเป็นโชคดี หรือ โชคร้ายที่ได้มาอยู่พร้อม ๆ กัน 3 วงการและมาใช้ Phonetic ทั้ง 3 ชุด สุดแล้วแต่ว่าผมจะคุยกับใคร
                ผมเคยพบเพื่อนสมาชิกบางท่านที่อยู่ในวงการขนส่งสินค้าทางอากาศบ้าง      ขายตั๋วเครื่องบินบ้าง เป็นพนักงานในโรงแรมชั้นหนึ่งบ้าง ซึ่งท่านเหล่านั้นเป็นนักวิทยุสมัครเล่นอย่างถูกต้องสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ไม่กล้าขึ้นความถี่ เพียงแค่เพราะกลัวความสับสนในการเลือกใช้ Phonetic เนื่องจากท่านเหล่านั้นติดปากกับ Phonetic ชุดของ IATA มากกว่า
             แต่ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวงการอะไรและใช้  Phonetic     ตามมาตรฐานของใครอยู่ก็ตาม ขอให้ภูมิใจในวุฒิภาวะของท่าน และพยายามใช้ทรัพยากรของท่านให้เป็นประโยชน์ต่อวงการ และสังคมส่วนรวมให้มากที่สุด เพื่อเราจะได้มีความถี่ใช้ร่วมกันนาน ๆ ให้ผู้หลักผู้ใหญ่เขาเห็นถึงความจำเป็นที่ยังต้องมีวิทยุสมัครเล่น(นักวิทยุสมัครเล่น) และจะต้องเร่งพัฒนาวงการให้เทียมบ่าเทียมไหล่นานาอารยประเทศในแนวทางที่ถูกต้อง
                 อยู่ที่พวกเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นแหละต้องจริงใจช่วยกัน
           เชื่อว่า.. สำนึกลึก ๆ ของทุกท่านตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความดี  หากแต่อาจมีเหตุแวดล้อมหรือปัจจัยบางอย่างทำให้สำนึกนั้นถูกซ่อนไว้ภายใน และทำอะไรบางอย่างพลาดไปบ้าง หวังว่าท่านสามารถนำเอาสำนึกดี ๆ นั้น มาใช้เพื่อช่วยกันจรรโลงวงการ ทำดีไม่มีคำว่า "สาย" 

ข้อมูล : คู่มือคนรักวิทยุสื่อสาร  โดย ธิดา เด่นพฤกษ์ธรรม HS1ASC

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น